ปี 2565 “ตลาดการเงินโลก” ผันผวน และการปรับฐานราคาสินทรัพย์ฟองสบู่

คอลัมน์ : ลงทุนทั่วโลก
ผู้เขียน : สุรศักดิ์ ธรรมโม บริษัทหลักทรัพย์ไพน์เวลท์โซลูชั่น จำกัด
บทความผมในต้นปี 2564 ในประชาชาติธุรกิจได้ระบุว่า เราจะพบกับภาวะเงินเฟ้อในปี 2564-2565 ซึ่งผลคือเป็นไปตามนั้น

ขณะที่ในปีนี้ ผมคาดว่าปี 2565 จะเป็นปีที่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่เพิ่มไปมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเผชิญกับการปรับฐานประมาณ 20-30% ขึ้นไป จากระดับราคาสูงสุด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และอะไรคือกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม ผมมีความเห็นไล่เรียงเป็นข้อดังต่อไปนี้

1) สถานการณ์ปัจุจบัน เรากำลังเผชิญกับยุคฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ทางการเงิน อันเป็นผลมาจากนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกใน
ปี 2008 และต่อเนื่องมาวิกฤตโรคระบาด COVID-19 อีกครั้ง โดยงบดุลของ Fed ในช่วงเวลา มี.ค. 63-ม.ค. 65 เพิ่มมาถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้งบดุลล่าสุดของ Fed อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

เท่ากับว่า Fed สร้างภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ทางการเงินตลอดช่วงเวลาดังกล่าวไปทั่วโลก และที่สุดภาวะฟองสบู่จากตลาดการเงินกำลังจะย้อนกลับไปซ้ำเติมภาวะฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจจริง

ถ้า Fed ไม่สามารถหยุดยั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ ผลคือปริมาณเงินมหาศาลที่ภาคเอกชนนำไปฝากกลับที่ Fed อาจจะต้องถูกดึงออกมาและไปไล่ซื้อสินทรัพย์ที่แท้จริง (real asset) เพื่อรักษาอำนาจซื้อของเงินไม่ให้ถูกทำลายจากเงินเฟ้อที่กำลังก่อตัวนี่จะผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ในภาคเศรษฐกิจจริง (real asset)

ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอสังหาริมทรัพย์ จะทะยานขึ้นไปจากนี้อีกหลายเท่า ซึ่งนี่จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อในปี’65-66 สูงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ในตอนแรกและจะทำให้ Fed ในภายหลัง หลังจากตระหนักว่าตัวเองได้พลาดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าเดิมในตอนหลังเพื่อยุติภาวะฟองสบู่ ซึ่งนี่จะซ้ำเติมความผันผวนของตลาดการเงินให้รุนแรงกว่าเดิม

2) ขณะนี้ สินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้นมีมูลค่าแพงมาก (valuation) ขณะที่สินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ส่วนมากมีผลตอบแทนใกล้ศูนย์ หรือในแง่ผลตอบแทนที่แท้จริงปรับด้วยเงินเฟ้อ (real yield) ถือว่าติดลบในระดับสูง นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ยังมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้จากการที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงต้นของวัฏจักรขาขึ้น จากการที่ประเทศหลายประเทศและบริษัทจำนวนมากที่ออกพันธบัตรและตราสารหนี้ตามลำดับแก่นักลงทุน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ผู้ออกตราสารหนี้จำนวนมากเปราะบางมากในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

ซึ่งที่สุดแล้วจากนี้ไปเราจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในตราสารหนี้ กอปรกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ รัสเซียและยูเครน (สหรัฐและโลกตะวันตกหนุนหลัง) หรือสหรัฐและจีนในทะเลจีนใต้รวมทั้งสถานการณ์ในตะวันออกกลางล้วนส่งผลกระทบต่อ supply chain ในการผลิตน้ำมันและการขนส่งสินค้าและบริการและในที่สุดจะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น

3) ผมเห็นว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรสามารถปรับฐานลงมาได้จากระดับราคาสูงสุดพร้อมกันราว 30-50% ขณะที่กรณีพื้นฐาน คาดว่าจะปรับฐานลงมา 20-30% ทั้งนี้ ความรุนแรงของการปรับฐานในตลาดหุ้นถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น private equity SPAC และธุรกิจที่ก่อหนี้ระดับสูงและอ่อนไหวต่อสภาพคล่อง (liquidity sensitive) ให้ได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับสูงกว่าที่คาด

ทั้งนี้ ระดับของความรุนแรงในแต่ละกรณีไม่ว่าจะเป็นกรณีพื้นฐานหรือกรณีเลวร้ายที่สุดขึ้นอยู่กับการรับมือของผู้ดำเนินนโยบายการเงิน หรือธนาคารกลาง โดยเฉพาะ Fed เป็นสำคัญ ว่าจะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาดอยู่ในทิศทางเดียวกับ Fed หรือไม่ เพราะถ้าไม่ ความผันผวนในตลาดจะทวีตรีคูณ

กลยุทธ์การลงทุน นับตั้งแต่ต้นปี 2565 บริษัทหลักไพน์เวลท์โซลูชั่นได้แนะนำให้ลูกค้าพิจารณาการถือเงินสดไม่ต่ำกว่า 70% ของพอร์ตการลงทุนและพิจารณาเงินลงทุนประมาณ 5-20% ตามระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนเข้าลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก

ได้แก่ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นเหมืองทองคำ ขณะที่เงินสดประมาณ 70% ของพอร์ตการลงทุนจะถูกเตรียมพร้อม สำหรับโอกาสในลักษณะ liquidity reserve ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะลงทุนเมื่อตลาดลงอย่างหนักมากกว่าที่ควรจะเป็นและปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง

สุดท้าย ข่าวดี คือใน 1 ปีข้างหน้ายังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (แต่ประมาทไม่ได้เรากำลังติดตาม spread พันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี และ 2 ปีใกล้ชิด) นอกจากนี้ จีนกำลังเริ่มต้นการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ประการสำคัญ การลดขนาดงบดุล เราไม่คิดว่า Fed จะสามารถลดขนาดของงบดุลลงมาก่อน มี.ค. 2563 ได้ เท่ากับว่ายังมีสภาพคล่องมหาศาลในระบบการเงิน แม้ว่า Fed จะลดขนาดงบดุลก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้า Fed มีนโยบายที่สามารถทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อสามารถถูกควบคุมได้ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ไม่ได้สูงขึ้นไปกว่าเดิม

และประการสำคัญ ดัชนีตลาดหุ้นปรับลงจากระดับสูงสุดประมาณ 20-30% ขึ้นไป ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสเหมาะที่แนะนำให้นักลงทุนพิจารณากลับเข้าลงทุน ขณะที่นักลงทุนระยะยาวจะต้องใช้ข้อเสนอแนะนี้เช่นเดียวกัน เมื่อคำนึงว่าเราอยู่กับฟองสบู่สินทรัพย์มานานและเรากำลังเข้าสู่ช่วงต้นของการปรับฐานอย่างรุนแรง

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/

admin

Related Posts